เห็นคนพูดถึง MBTI กันมากขึ้นมากในแวดวงการทำงาน รับสมัครงาน เช่นเดียวกัน ตอนที่ทำงานที่นี้ใหม่ๆ ก็มีให้ทำแบบทดสอบด้วยเหมือนกันผลที่ได้คือ ESFJ-A

การรู้จักตนเอง เป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านการงาน และรวมไปถึงความรัก แต่ใครกันจะสามารถเกิดมาแล้วรู้จักตัวเองได้ทันที ดังน้ันจึงเกิดแบบวัดบุคลิกภาพ MBTI ขึ้น มารู้จักและลองทำแบบทดสอบกันเลยดีกว่า..
แบบวัดบุคลิกภาพ MBTI (Myers-Briggs Type Indicator)
- MBTI เป็นแบบวัดบุคลิกภาพที่มีการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1962 โดยถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย Isabel Briggs Myers และ Katharine C. Briggs ซึ่งต่อยอดมาจากทฤษฎีของ Carl Jung (คาร์ล จุง)
- คาร์ล จุง พบว่า พฤติกรรมไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของคนใดคนหนึ่งแต่หลายๆ คนสามารถมีแบบ (patterns) ของพฤติกรรมที่เหมือนหรือคล้ายๆ กันได้ โดยเป็นพฤติกรรมที่เป็นระบบระเบียบ (Orderly) ที่มีความถาวรคงเส้นคงวา แบบของพฤติกรรมที่ทำให้คนแตกต่างกันก็คือแบบที่คนมักแสดงออกบ่อย ๆ (preferences) ซึ่งจะสะท้อนเจตคติของบุคคลที่มีต่อโลก
- คาร์ล จุง ได้ใช้อักษร(ตัวแปร) ทั้ง 8 คือ E I P S T F N J มาจัดเป็นชุด ชุดละ 4 ตัวอักษร ทำให้เกิดเป็นลักษณะบุคลิกภาพทั้งหมด 16 แบบ
- เป็นแบบวัดที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะวัดบุคลิกภาพแล้ว ยังมีแนวโน้มในการใช้เลือกอาชีพที่เหมาะสมรวมถึงการเลือกคู่ครองอีกด้วย
ใครสนใจแบบเต็มๆ คลิก เรามาต่อกันที่ ESFJ-A
บุคลิกภาพและลักษณะเฉพาะตัวของ ESFJ
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESFJ เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น ให้ความสำคัญในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คน เขามักจะชอบอยู่ในสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยผู้คน และชอบงานเลี้ยงสังสรรค์ ESFJ เป็นคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบประเพณี วัฒนธรรม และคุณค่าส่วนรวมด้วย เขามักเป็นคนที่
- เห็นใจคนอื่น ชอบช่วยเหลือคนอื่น
- เป็นกันเอง ชอบการมีปฏิสัมพันธ์ และการร่วมแรงร่วมใจ
นอกจากนั้น ESFJ ยังให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นไปได้จริงมากกว่าสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยพวกเขาอาจเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาเป็นคนที่ทำงานที่มีระบบหรือมีรายละเอียดได้ดี โดยเฉพาะรายละเอียดที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คน
- อยู่กับความเป็นจริงและปัจจุบัน
- จดจ่อกับรายละเอียดได้
ESFJ มักจะจดจำสิ่งต่างๆ ของผู้คนได้ดี และเขาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ด้วย
จุดแข็งของ ESFJ
- เป็นมิตร เข้ากับผู้อื่นได้ดี
- มีระบบ จัดการสิ่งต่างๆ ได้ดี
- อยู่กับความเป็นจริง ลงมือปฏิบัติเก่ง
จุดอ่อนของ ESFJ
- อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ค่อนข้างมาก
- ละเลยความต้องการของตัวเอง เมื่อต้องตัดสินใจ
- อาจไม่ค่อยชอบออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ หรือ safe zone
ESFJ ในที่ทำงาน
ESFJ เป็นคนที่ชอบการปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกับคนอื่น ในที่ทำงานเขาเป็นคนที่ทำงานเก่งและชอบช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เขาถนัดในการทำงานที่จับต้องได้มากกว่างานที่เป็นทฤษฎี โดยที่เขาจะโดดเด่นมากเมื่องานเหล่านั้นทำให้เขาได้เจอกับผู้คนไปพร้อมๆ กัน
- ESFJ ไม่ชอบความขัดแย้ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เขาก็รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเกิดความขัดแย้ง
- ESFJ เสียใจได้ง่ายเมื่อเจอคำตำหนิ หรือปฏิกิริยาเชิงลบจากเพื่อนร่วมงานได้ หากสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขารัก ทุ่มเท หรือให้คุณค่ามาก
ESFJ เป็นหัวหน้าที่สร้างเครือข่ายได้อย่างยอดเยี่ยม เขามักจะรู้จักผู้คนในวงกว้าง และมักใช้จุดนี้เป็นจุดแข็งในการสร้างความร่วมมือในการทำงาน เขาให้ความสำคัญกับระเบียบ คุณค่า วัฒนธรรมในองค์กรค่อนข้างมาก
วิธีการปฏิสัมพันธ์และดูแลคนที่มีบุคลิกภาพ ESFJ
ESFJ เป็นคนที่มีท่าทีเป็นมิตร ชอบปฏิสัมพันธืกับผู้คน และชอบช่วยเหลือคนอื่นมาก เขาชอบการแสดงออกด้วยภาษากายเช่นทำท่าทางประกอบการพูด และแสดงออกทางสีหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม เขาให้ความสำคัญกับความกลมเกลียวและความรู้สึกของคนอื่นค่อนข้างมาก เราสามารถดูแล ESFJ ได้โดย
- ให้พื้นที่สำหรับเขาในการแสดงออกทางความรู้สึก และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเขา
- เป็นคู่สนทนาที่ดีให้กับเขา โดยการตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด
- พยายามทำความเข้าใจหรือให้ความสำคัญคุณค่าที่เขายึดถือ
Cognitive Function ของ ESFJ
ESFJ เป็นผู้ที่มีความถนัดแบบ Extraverted, Sensing, Feeling, Judging ซึ่งตามทฤษฎีของ Carl Jung แล้ว ทำให้ ESFJ มี cognitive function ดังต่อไปนี้
- ฟังก์ชั่นหลัก (Dominant Function): Extraverted Feeling
- ฟังก์ชั่นผู้ช่วย (Auxiliary Function): Introverted Sensing
- ฟังก์ชั่นลำดับสาม (Tertiary Function): Extraverted Intuition
- ฟังก์ชั่นด้อย (Inferior Function): Introverted Thinking
โดยที่แต่ละบุคลิกภาพจะมีองค์ประกอบของ cognitive function ที่แตกต่างกันไป และแต่ละคนก็จะมีการใช้งาน cognitive function ที่ไม่เหมือนกัน ตามบริบทและการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป
แต่ละบุคลิกภาพจะใช้ฟังก์ชั่นหลัก (Dominant Function) และฟังก์ชั่นผู้ช่วย (Auxiliary Function) เป็นหลักในชีวิตประจำวัน ส่วนฟังก์ชั่นลำดับสาม (Tertiary Function) และฟังก์ชั่นด้อย (Inferior Function) เป็นฟังก์ชั่นที่แต่ละบุคลิกภาพจะมีเลือกใช้น้อยกว่า ทำให้อาจมีการพัฒนาน้อยกว่าสองฟังก์ชั่นแรก
ฟังก์ชั่นหลัก (Dominant Function): Extraverted Feeling
- ESFJ มักจะให้ความสนใจไปกับสิ่งภายนอก ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเป็นคุณค่า ความต้องการ ความปรารถนาของผู้คน
- ESFJ ตัดสินใจโดยพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อคนอื่นและอารมณ์ความรู้สึก
- ESFJ ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และต้องการความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในสถานที่ที่พวกเขาอยู่
- ESFJ มักให้ความสำคัญเกี่ยวกับค่านิยมทางสังคม คุณค่าที่มีร่วมกัน และมักคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เมื่อต้องทำอะไรบางอย่าง
ฟังก์ชั่นผู้ช่วย (Auxiliary Function): Introverted Sensing
- ESFJ ชอบใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เขามองโลกตามความเป็นจริง และชอบสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง
- ESFJ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ สิ่งที่เขาเคยผ่านมาแล้วในอดีตที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ESFJ สามารถจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้คน
- ESFJ เรียนรู้จากการปฏิบัติได้ดีกว่าการเรียนรู้ทฤษฎี
ฟังก์ชั่นลำดับสาม (Tertiary Function): Extraverted Intuition
- ฟังก์ชั่นนี้จะทำให้ ESFJ คิดและวางแผนสิ่งต่างๆ ในอนาคต
- เมื่อ ESFJ ได้มีประสบการณ์กับเรื่องใดแล้ว เขาจะสามารถมองสิ่งเหล่านั้นเป็นภาพรวมและเห็นความเชื่อมโยงได้มากขึ้น
ฟังก์ชั่นด้อย (Inferior Function): Introverted Thinking
- ESFJ ไม่ได้ถนัดในการให้เหตุผลหรืออธิบายสิ่งที่เขาคิดด้วยตรรกะ
- Introverted Thinking เป็นฟังก์ชั่นที่พัฒนาน้อยที่สุดของ ESFJ ซึ่งอาจทำให้เขาไม่ชำนาญทำงานที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์เป็นระยะเวลานาน